กัญชา กัญชงตีกับยาอื่นๆได้อย่างไร


สารประกอบต่างๆในกัญชา กัญชงสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นๆที่ใช้ร่วมกันได้ หรือ จะเรียกว่า ยาตีกันก็ได้ หรือ Drug Interaction ซึ่งเมื่อยาตีกัน อาจส่งผลทั้งในแง่ดีและแง่ลบ

ยาตีกันแล้วส่งผลในแง่ดี คือ ทั้งกัญชาและยา ส่งเสริมให้การออกฤทธิ์ในทางการแพทย์ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยาตีกันแล้วส่งผลในแง่ลบ คือ ทั้งกัญชาและยา ทำให้การออกฤทธิ์ในทางการแพทย์น้อยลง หรือ ทำให้เกิดผลเสีย มีอาการข้างเคียงที่ไม่ต้องการเกิดขึ้นมากขึ้น เป็นต้น

กัญชา กัญชง ตีกับยาอื่นๆได้ จึงต้องระวัง ถ้าใช้ร่วมกับยาอื่นๆ

กัญชา กัญชงตีกับยาอื่นๆได้อย่างไร

ในร่างกายมีระบบเอนไซม์อยู่ระบบหนึ่ง ซึ่งเป็นระบบหลักในการที่จะเปลี่ยนแปลงยา เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่ายานั้นจะเป็นยาเคมี ยาสมุนไพร หรือแม้แต่กัญชา กัญชงก็ตาม

ระบบนั้นมีชื่อเรียกว่า ไซโตโครม P450 หรือ CYP450 ที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงยาที่เข้าสู่ร่างกาย ให้กลายเป็นสารที่ออกฤทธิ์ได้ หรือ ออกฤทธิ์ได้มากยิ่งขึ้น หรือ ทำให้ยาหมดฤทธิ์ เพื่อจะได้เข้าสู่ขั้นตอนการกำจัดออกจากร่างกายผ่านทางระบบต่างๆต่อไป เช่น ผ่านทางปัสสาวะ เป็นต้น

ระบบเอนไซม์นี้ มีชนิดย่อยๆลงไปอีกมากมาย เช่น CYP2C9 , CYP3A4 , CYP2C19 เป็นต้น

แล้วมันจะตีกันอย่างไร

กัญชา กัญชงและ ยาอื่นๆ ที่รับประทานเข้าไป ล้วนมีเอนไซม์พวกนี้ เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อทำการเปลี่ยนแปลง

ในกรณีที่กัญชา กัญชงกับยาอื่นๆ เข้าไปในร่างกายพร้อมกัน และถ้าทั้งกัญชาและยานั้นๆ ใช้เอนไซม์ร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงตัวพวกมันเอง ก็จะเกิดการแย่งกันใช้เอนไซม์

เช่น จากการศึกษาวิจัยพบว่า สาร THC และ สาร CBD ถูกเปลี่ยนแปลงด้วย CYP3A4 และ CYP2C9

ฉะนั้น ถ้ามีกัญชา กับยา ทีมีคุณสมบัติยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4 ตัวนี้ ใช้ร่วมกัน

ผลที่เกิดขึ้น คือ สาร THC จะถูกเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เพราะยาไปยับยั้งเอนไซม์ตัวดังกล่าวไว้ ทำให้ระดับสาร THC จะสูงขึ้น

ในทางตรงกันข้าม

ถ้ามีกัญชา กับยา ทีมีคุณสมบัติกระตุ้นหรือเหนี่ยวนำเอนไซม์ CYP3A4 ตัวนี้ ใช้ร่วมกัน

ผลที่เกิดขึ้น คือ สาร THC จะถูกเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากหรือไวมาก เพราะยาไปกระตุ้นเอนไซม์ตัวดังกล่าวไว้ ทำให้ระดับสาร THC จะลดลง

การใช้กัญชาในทางการแพทย์ จึงต้องมีข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ด้วย เพื่อจะได้ใช้อย่างปลอดภัย หรือ เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมทั้งถ้ามีโอกาสเกิดผลเสียขึ้นมา จะได้มีการวางแผนปรับเปลี่ยนหรือป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้น

ปัจจุบันมีการนำกัญชา กัญชงมาใช้รักษาตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็ล้วนมียาอื่นๆที่ใช้ประจำอยู่แล้ว

การระมัดระวังเรื่องยาตีกัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทราบหรือแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ

ตัวอย่างยาที่ตีกับกัญชา กัญชงพร้อมกลไกการตีกัน

เช่น ยาวาร์ฟาริน กับ สาร THC และ CBD  จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารดังกล่าวในกัญชา ทำให้ระดับยาวาร์ฟารินในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการใช้ยา หรือ เฝ้าระวังผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น

            ยาวาร์ฟาริน เป็นยาห้ามแข็งตัวของเลือด ถ้าระดับยาเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้เลือดออกตามอวัยวะต่างๆได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่อันตรายได้ โดยเฉพาะถ้าเลือดออกในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง เป็นต้น

กัญชา กัญชง และยาอื่นๆ เมื่อใช้ร่วมกัน สารแต่ละชนิดสามารถเป็นทั้งตัวเร่ง (Inducer) และ ตัวยับยั้ง (Inhibitor) ในการเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์ในตับ ตระกูล CYP450 ได้

สาร THC ถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับด้วยเอนไซม์ CYP2C9, CYP2C19 และ CYP3A4

ตัวอย่าง การตีกันของกัญชา กัญชง กับยาอื่นๆ

ยาที่มีผลในการลดระดับสาร THC

          ยาเหล่านี้จัดว่า เป็นตัวเร่งเอนไซม์ที่มีความแรงมาก (Strong inducers) ต่อเอนไซม์ที่ชื่อว่า CYP 2C19 เช่น ยาต้านวันโรค rifampin หรือยาต้านไวรัสเอชไอวี ritonavir

            ยาเหล่านี้จัดว่า เป็นตัวเร่งเอนไซม์ที่มีความแรงปานกลาง (Moderate inducers) ต่อเอนไซม์ที่ชื่อว่า CYP 2C19 เช่น ยาต้านไวรัสเอชไอวี efavirenz หรือ ยากันชัก phenytoin

            ยาเหล่านี้จัดว่า เป็นตัวเร่งเอนไซม์ที่มีความแรงมาก (Strong inducers) ต่อเอนไซม์ที่ชื่อว่า CYP3A4  เช่น ยากันชักcarbamazepine ยากันชัก phenytoin ยาต้านวัณโรค rifampin เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า สาร THC ยังมีคุณสมบัติเป็นตัวเร่งเอนไซม์ CYP1A2 ที่ตับด้วย ซึ่งก็อาจทำให้ยาที่มีการอาศัยเอนไซม์ชนิดนี้ในการเปลี่ยนแปลง ถูกเร่งให้มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มีผลทำให้ระดับยาลดลงได้ เช่น

            ยาclozapine, ยา duloxetine, ยาแก้ปวดnaproxen, ยา cyclobenzaprine, ยาolanzapine, ยา haloperidol และยาchlorpromazine เป็นต้น

ยาที่มีผลในการเพิ่มระดับสาร THC

ยาเหล่านี้จัดว่า เป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ที่มีความแรงปานกลาง (Moderate inhibitors) ต่อเอนไซม์ที่ชื่อว่า CYP 2C9 เช่น ยา amiodarone, ยา felbamate, ยา fluconazole และ ยา miconazole

            ยาเหล่านี้จัดว่า เป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ที่มีความแรงมาก (Strong inhibitors) ต่อเอนไซม์ที่ชื่อว่า CYP 2C19 เช่น ยา fluconazole, ยา fluoxetine, ยา fluvoxamine และ ยา ticlopidine            

ยาเหล่านี้จัดว่า เป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ที่มีความแรงมาก (Strong inhibitors) ต่อเอนไซม์ที่ชื่อว่า CYP 3A4 เช่น ยา clarithromycin, ยา diltiazem, ยา erythromycin, ยา itraconazole, ยา ketoconazole, ยา ritonavir และ ยา verapamil

สาร THC หรือ CBD หรือแม้แต่ยาแต่ละชนิด สามารถถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์ และมีคุณสมบัติที่มากกว่า 1 รูปแบบได้

ฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมยาหรือสารจากกัญชา กัญชง ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์ CYP450 มากชนิดจัง

สาร CBD ถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับด้วยเอนไซม์ CYP2C9, CYP2C19, CYP2D6 และ CYP3A4

สาร CBD เป็นสารที่มีคุณสมบัติในการยับยั้ง (Inhibitor) เอนไซม์ที่ตับ ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงยาหรือสารอาหารที่ใช้เอนไซม์เหล่านี้ในการเปลี่ยนแปลงหรือในกระบวนการเมทบอลิซึม (Metabolism) เช่น CYP3A4, CYP2C9, CYP2C19 และ CYP2D6

          หรือเข้าใจง่ายๆ ดังนี้ ถ้าเรารับประทานยาอะไรก็ตาม ร่วมกับสาร CBD แล้วยานั้น ใช้เอนไซม์ CYP3A4, CYP2C9, CYP2C19 และ CYP2D6 ในการเปลี่ยนแปลงที่ตับ ยาเหล่านั้นจะถูกเปลี่ยนน้อยลง

          เพราะว่า สาร CBD มีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เหล่านี้ ก็เลยทำให้ยาที่ร่างกายได้รับเข้าไปนั้น เหลือมากขึ้น แทนที่จะถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อขับออก ก็เลยเหลือในร่างกายเสมือนว่า มากขึ้น นั่นเอง

ตัวอย่างยา ที่ใช้เอนไซม์ CYP3A4 ในการเปลี่ยนแปลงที่ตับ ซึ่งถ้าใช้ร่วมกับสาร CBD ก็จะทำให้ยาเหล่านี้ มีระดับยาในร่างกายหรือในเลือดเพิ่มขึ้นได้ เช่น

            ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม macrolides เช่น ยา Erythromycin

            ยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศชาย เช่น ยา sildenafil    ยาลดความดันโลหิตสูงในกลุ่ม calcium channel blockers เช่น ยา

            ยาคลายเครียดหรือนอนหลับในกลุ่ม benzodiazepines เช่น

            ยาในกลุ่มลดไขมันในเลือด เช่น ยา atorvastatin และ simvastatin

ตัวอย่างยา ที่ใช้เอนไซม์ CYP2D6 ในการเปลี่ยนแปลงที่ตับ ซึ่งถ้าใช้ร่วมกับสาร CBD ก็จะทำให้ยาเหล่านี้ มีระดับยาในร่างกายหรือในเลือดเพิ่มขึ้นได้ เช่น

            ยาคลายเครียดในกลุ่ม SSRIs เช่น ยา fluoxetine, fluvoxamine, citalopram, escitalopram, sertraline, paroxetine เป็นต้น

            ยาคลายเครียดในกลุ่ม tricyclic antidepressants  เช่น ยา amitriptyline, nortriptyline, imipramine, desipramine

            ยาในกลุ่ม antipsychotics เช่น ยา perphenazine

            ยาหัวใจในกลุ่ม beta blockers เช่น metoprolol, nebivolol, propranolol

            ยาในกลุ่มแก้ปวด opioids เช่น ยา tramadol, codeine, oxycodone

สาร THC และ CBD ช่วยกันตีกับยาอื่นได้อย่างไร และตัวไหนบ้าง

          เมื่อใช้ยากัญชาที่มีทั้งสาร THC และ CBD อยู่ด้วยกัน ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ พบว่า จะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางเพิ่มขึ้น โดยแอลกอฮอร์ จะไปเพิ่มความเข้มข้นของสาร THC และ CBD ในร่างกายให้สูงขึ้น และยังทำให้ฤทธิ์ของการเมา ลดประสิทธิภาพของการขับรถ เป็นต้น

          การใช้ยาต้านแข็งตัวของเกร็ดเลือด (Anti-platelets) หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anti-coagulants) ร่วมกับสาร THC และ CBD ผลที่เกิดขึ้นจะพบว่า สาร THC และ สาร CBD จะยับยั้งการแข็งตัวของเกร็ดเลือดได้

            ฉะนั้น การใช้ร่วมกันของยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาแอสไพริน ยาวาร์ฟาริน และยาโคพิโดเกล กับสาร THC และ CBD จะทำให้มีโอกาสเลือดออกได้มากขึ้น เพราะทำให้กลไกการแข็งตัวของเกร็ดเลือด หรือ การแข็งตัวของเลือดด้อยประสิทธิภาพลง

กัญชง กัญชา ตีกันกับยาอื่นได้ เหมือนกับยาทั่วไป

ก่อนใช้สอบถามผู้รู้ หรือ บุคลากรทางการแพทย์ประจำคลินิกกัญชาในโรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน

ไม่พลาดทุกรายละเอียดสำหรับ การใช้กัญชา กัญชง สั่งเลย

อ้างอิงบางส่วนจาก

Cytochrome P450 enzymes in drug metabolism: Regulation of gene expression, enzyme activities, and impact of genetic variation. Pharmacol. Ther. 2013, 138, 103–141.

A Phase I, open-label, randomized, crossover study in three parallel groups to evaluate the effect of Rifampicin, Ketoconazole, and Omeprazole on the pharmacokinetics of THC/CBD oromucosal spray in healthy volunteers. Springerplus 2013, 2, 236.

Drug-drug interaction between clobazam and cannabidiol in children with refractory epilepsy. Epilepsia 2015, 56, 1246–1251.

Interactions between cannabidiol and commonly used antiepileptic drugs. Epilepsia 2017, 58, 1586–1592.

Cannabidiol is a potent inhibitor of the catalytic activity of cytochrome P450 2C19. Drug Metab. Pharmacokinet. 2013, 28, 332–338.

Cannabidiol, a major phytocannabinoid, as a potent atypical inhibitor for CYP2D6. Drug Metab. Dispos. 2011, 39, 2049–2056.

Characterization of major phytocannabinoids, cannabidiol and cannabinol, as isoform-selective and potent inhibitors of human CYP1 enzymes. Biochem. Pharmacol. 2010, 79, 1691–1698.

Potent inhibition of human cytochrome P450 3A isoforms by cannabidiol: Role of phenolic hydroxyl groups in the resorcinol moiety. Life Sci. 2011, 88, 730–736.

More Science Less Marketing

ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี