การเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้ เพราะว่าร่างกายของเราไม่แข็งแรง ระบบภูมิต้านทานทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือ เมื่อเจอกับสิ่งแปลกปลอม สารก่อภูมิแพ้ต่างๆหรือเชื้อโรค ร่างกายไม่สามารกำจัดให้หมดไปได้ ร่างกายจึงถูกโจมตีด้วยเชื้อโรคเหล่านั้น ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยต่างๆเกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อย ขึ้นกับว่า ร่างกายเรามีระบบกำจัดหรือทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น ได้มีประสิทธิภาพมากน้อยเท่าใด ระบบเหล่านั้นที่กล่าวถึง ก็คือ ระบบภูมิต้านทาน (Immune System) นั่นเอง
การกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันหรือทำให้ภูมิคุ้มกันช่วยกำจัดเชื้อโรคให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นมีหลายวิธี เช่น การได้รับวัคซีนต่างๆ ก็ถือว่า เป็นการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราๆทุกคนคงคุ้นเคยกันดี เพราะเด็กๆเราจะได้รับวัคซีนกัน เป็นต้น
การกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันมีความแข็งแรงและทำงานได้ดี คอยกำจัดสารแปลกปลอมและเชื้อโรคนั้น สามารถทำได้ด้วยการรับประทานอาหาร ที่ประกอบไปด้วยสารอาหาร ที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ด้วย ซึ่งในบทความนี้ จะกล่าวสารอาหารที่มีการศึกษาวิจัยว่า ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของการเจ็บป่วยได้
- Betaglucan
เบต้ากลูแคน มีการศึกษาถึงประโยชน์มากมาย แต่ที่พบว่าช่วยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างดี คือ เบต้ากลูแคน ชนิด 1,3/1,6 เป็นเบต้ากลูแคน ชนิดที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อเทียบกับเบต้ากลูแคนชนิดอื่นๆ เช่น เบต้ากลูแคน ชนิด 1,3/1,4 เป็นต้น เพราะว่าเบต้ากลูแคน ชนิด 1,3/1,6 เป็นเบต้ากลูแคนที่มีลักษณะที่มีความพอดีและจำเพาะต่อการจับกับรีเซบเตอร์ (Receptor) บริเวณพื้นผิวของเซลล์แมคโครฟาจ (Macrophage) ที่เราเรียกว่า Dectin-1 ซึ่งเมื่อเบต้ากลูแคนชนิด 1,3/1,6 จับกับบริเวณ Dectin-1 บนผิวของแมคโครฟาจแล้ว จะทำให้แมคโครฟาจทำงานได้ดีขึ้น หรือให้เข้าใจง่ายๆ คือ เมื่อแมคโครฟาจกินเบต้ากลูแคน ชนิด 1,3/1,6 เข้าไปแล้ว ทำให้เซลล์แมคโครฟาจ ออกไปตามล่าเชื้อโรคหรือเซลล์ที่ผิดปกติ ในร่างกายของเรา แล้วทำลายได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokine) ต่างๆออกมา เช่น IL-1, IL-6, IL-8, TNF-α เพื่อส่งสัญญาณให้เม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ ได้รับรู้ว่ามีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านั้น ก็จะมีการออกมาทำลายเชื้อโรคเหล่านั้นให้หมดไปจากร่างกาย เรียกได้ว่า นอกจากเบต้ากลูแคนจะทำให้เซลล์แมคโครฟาจ กำจัดเชื้อโรคได้ดีมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เซลล์แมคโครฟาจ บอกเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่นๆ ออกมาทำลายเชื้อโรคหรือเซลล์ที่ผิดปกติ ร่วมกันได้มากขึ้นอีกด้วย
เบต้ากลูแคน สามารถรับประทานได้จากเมนูเห็ดต่างๆ จะสามารถช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเวลาเจ็บป่วยรือหลังการป่วย สามารถทานซุปเห็ด เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น
- Probiotic
โพรไบโอติก คือ แบคทีเรียทีอยู่ในร่างกายของคนเรา ส่วนใหญ่อยู่ที่ลำไส้ ซึ่งจัดเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งในปัจจุบัน มีการศึกษาพบว่า โพรไบโอติกเหล่านี้ ช่วยลดความเสี่ยงและการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆมากมาย รวมทั้งช่วยให้ระบบภูมคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรงด้วย มากกว่า 70 % ของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเรา ถูกควบคุมหรือมีโพรไบโอติกเข้ามาเกี่ยวข้อง และโพรไบโอติกยังช่วยกระตุ้นการเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นตัวทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายด้วย
โพรไบโอติก ที่ขายในท้องตลาดมีหลากหลายแบรนด์ ขึ้นกับชนิดและจำนวนของเชื้อโพรไบโอติกของแต่ละแบรนด์
- Colostrum
Colostrum จัดเป็นสารอาหารที่มีการนำมาใช้ในการช่วยความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ตั้งแต่เด็กจนถึงคนโต การแพทย์ของอินเดียมีการใช้มานับพันปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่สกัดได้มาจากวัว เป็นสารอาหารแรกๆ ของวัวแม่พันธุ์ที่พึ่งตกลูกที่ไหลออกจากเต้านม ในช่วง 6 ชั่วโมงแรกของการตกลูก ถ้าเป็นของคน ถ้าแบบเข้าใจง่ายๆก็คือ นมเหลือง คือ นมที่ไหลออกจากเต้านมของหญิงที่พึ่งคลอดลูก ในช่วง 1 สัปดาห์แรก ก่อนที่นมปกติจะไหลออกมา ซึ่งสารอาหารที่ไหลออกมาในช่วงนี้ จะประกอบไปด้วยสารอาหารมากมาย รวมทั้ง สารอาหารที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immune Factor) เช่น Immunoglobulins, Lactoferrin, Leukocytes เป็นต้น และ สารอาหารช่วยการเจริญเติบโต (Growth Factor) เช่น IgF-1 เป็นต้น
Colostrum มีการนำมาผลิตเป็นอาหารเสริมในหลายๆแบรนด์ เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตและทำให้สุขภาพแข็งแรง มีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องมากกว่า 4,000 การศึกษาที่วิจัยเกี่ยวกับการใช้ Colostrum และพบว่า มีความปลอดภัย ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
- Vitamin D
วิตามินดี เป็นวิตามินที่แม้ร่างกายจะสังเคราะห์ขึ้นมาเองได้ ด้วยการที่ร่างกายอาศัยแสงแดดในการสังเคราะห์ แต่จากการศึกษาก็พบว่า คนทั่วโลก รวมทั้งคนไทย มีรายงานว่า มีวิตามินดีในร่างกายต่ำกว่าที่เกณฑ์หรือมีวิตามินดีในร่างกายไม่เพียงพอนั่นเอง ซึ่งการที่ร่างกายมีวิตามิดีที่น้อยในร่างกาย สัมพันธ์กับการเกิดการเจ็บป่วยและการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย การเกิดโรคภูมิแพ้ต่างๆ เป็นต้น
วิตามินดีในร่างกายที่เพียงพอจะช่วยเพิ่มสารที่มีชื่อว่า Cathelicidin ซึ่งจัดเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อต่างๆ จึงทำให้วิตามินสามารถช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วย จากการศึกษาพบว่า การรับประทานวิตามินดี 5,000 – 10,000 IU ทุกวัน ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มให้แข็งแรงได้
- Omega 3
กรดไขมันโอเมกา 3 ไม่เพียงมีประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันด้วย แต่ต้องรับประทานคู่กับวิตามินดี จึงจะทำให้ประสิทธิภาพของการป้องกันเชื้อโรค รวมทั้งช่วยลดอาการแพ้ต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยโอเมกา 3 จะไปช่วยทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาว สามารถออกไปจัดการเซลล์แปลกปลอมหรือเชื้อโรคได้มากขึ้น จากการศึกษาพบว่า การับประทานโอเมกา 3 ขนาด 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับวิตามินดี มีประสิทธิภาพที่เยี่ยมในการกำจัดเชื้อโรค
นอกจากสารอาหารทั้ง 5 ที่ผมกล่าวมาแล้ว ก็ยังมีสมุนไพรและสารอาหารต่างๆ อีกมากมาย ที่พบว่า ช่วยระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงได้ เดี่ยวจะได้นำมาเสนอในครั้งต่อไป
และจากทั้ง 5 สารอาหารข้างต้น โดยส่วนตัว ผมค่อนข้างชอบ เบต้ากลูแคนกับโพรไบโอติกมากๆ เพราะจากงานวิจัยและกลไกการออกฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อโรค มีข้อมูลอธิบายที่ชัดเจนมากที่สุด
มีข้อสงสัยสอบถามมาได้นะครับ
เอกสารอ้างอิง
Heike Stier. Immune-modulatory effects of dietary Yeast Beta-1,3/1,6-D-glucan. Nutrition Journal 2014, 13:38
Dalia Akramienė. Effects of b-glucans on the immune system. Medicina (Kaunas) 2007; 43(8)
- Delcenserie. Immunomodulatory Effects of Probiotics in the Intestinal Tract. Curr. Issues Mol. Biol. 10: 37-54.
ANDREA T. BORCHERS. Probiotics and immunity. J Gastroenterol 2009; 44:26–46
- Stelwagen. Immune components of bovine colostrum and milk. J. Anim. Sci. 2009. 87(Suppl. 1):3–9
Powar Priyatama V. Immunological Aspect of Colostrum As A Preventative Medication. JIPBS, Vol 2 (3), 252-260, 2015
Cynthia Aranow. Vitamin D and the Immune System. J Investig Med. 2011 Aug; 59(6): 881–886.
Philip C. Calder. Omega-3 Fatty Acids and Inflammatory Processes. Nutrients 2010, 2, 355-374
Calder PC. (2007) Immunomodulation by omega-3 fatty acids. Prostaglandins Leukot Essent Fatty Acids. 77:327-35.