อย. อาหารเสริม เครื่องสำอาง กับดักที่คนไทยส่วนใหญ่ ก้าวไม่พ้น


ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องสำอางในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศหรือผลิตเองในประเทศไทย จะต้องได้รับการรับรองความปลอดภัย จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ของประเทศไทย
 
และต้องได้เลขที่ทะเบียนของอาหารเสริมหรือเลขจดแจ้งของเครื่องสำอางเหล่านั้น เพื่อเป็นการบอกว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีความปลอดภัย

 
ย้ำนะครับ ว่ามีความปลอดภัย แล้วจะรู้ได้ไงว่ามีความปลอดภัย ส่วนใหญ่ก็เป็นการอ้างอิงจากการศึกษาวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ และการเก็บสถิติเรื่องอาการข้างเคียงหรืออันตรายของสารออกฤทธิ์สำคัญที่เคยมีการขออนุญาตไปแล้ว ว่ามีอันตรายเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคหรือเปล่า
 
ส่วนใหญ่ สารเหล่านั้นมักจะไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงจากอาหารเสริมหรือเครื่องสำอางเหล่านั้น เพราะว่า สารออกฤทธิ์ส่วนใหญ่ก็เป็นสารที่เลียนแบบที่อยู่ในอาหารหรืออยู่ในร่างกายของเราอยู่แล้ว
 
ในส่วนประเด็นการขออนุญาตขึ้นทะเบียนอาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง ซึ่งการขออนุญาติขึ้นทะเบียนไม่จำเป็นว่าต้องใช้แล้วได้ผล
 
หรือให้เข้าใจง่ายๆคือ ถ้าจะขออนุญาต ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีรายชื่อตามที่ อย อนุญาตหรือไม่ ถ้ามีก็ได้หมายเลขมาแล้ว จะไม่มีการเข้าไปตรวจสอบถึงขั้น ทดลองใช้จริงๆ ก่อน อนุญาต
 
ฉะนั้น สิ่งที่ทุกคนควรพิจารณา ในการที่เลือกซื้ออาหารเสริม หรือ เครื่องสำอาง ให้ได้อย่างมั่นใจ ผมมีวิธีการสังเกตมา แนะนำครับ
 
1. อาหารเสริมหรือเครื่องสำอางที่โฆษณา หลากหลายสรรพคุณ ในเม็ดเดียว ขวดเดียว กระปุกเดียว อย่างนี้ ให้สงสัยไว้ก่อนว่า ไม่มีจริง อาจหลอกลวง
 
2. อาหารเสริมหรือเครื่องสำอางที่โฆษณาว่า ช่วยให้เกิดผลนั้นๆ อย่างถาวร เช่น ผิวขาวถาวร ไม่กลับมาดำ ลดน้ำหนักอย่างถาวร ไม่กลับมาอ้วนอีก อย่างนี้ไม่มีจริง หลอกลวง
 
3. อาหารเสริมหรือเครื่องสำอางที่อ้างการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ที่อยู่ในอาหารเสริมหรือเครื่องสำอางนั้นเลย อย่างนี้ให้คิดไว้เลย ว่าไม่มีจริง หลอกลวง
 
4. อาหารเสริมหรือเครื่องสำอางที่ชอบเอาผู้มีชื่อเสียง มาเป็นพรีเซนเตอร์ แล้วบอกว่าใช้เองมาเป็นระยะเวลานาน รับรองเห็นผลและปลอดภัย อย่างนี้ขอให้เชื่อไว้ก่อนว่า ไม่จริง หลอกลวง เพราะพรีเซนเตอร์ส่วนใหญ่อาจไม่ได้ใช้สินค้าเหล่านั้นจริง หรือใช้เพียงแค่ครั้งสองครั้ง
 
5. อาหารเสริมหรือเครื่องสำอางที่อ้างการผลิตหรือสกัดจากสารธรรมชาติ 100 % อันนี้ให้เชื่อไว้ก่อนว่าไม่จริง เพราะว่าอาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง ในสูตรตำรับอาจมีสารสังเคราะห์เคมีในการประกอบในสูตรได้
 
6. อาหารเสริมที่โฆษณาว่า มีปริมาณของสารออกฤทธิ์บรรจุต่อเม็ดหรือแคปซูล ในปริมาณหลายพัน หลายหมื่น หลายแสนมิลลิกรัม เช่น 1 แคปซูลหรือเม็ด บรรจุสารออกฤทธิ์ 12,000 มิลลิกรัม อันนี้ให้เชื่อไว้ก่อนว่าไม่จริง หลอกลวง
 
6 ข้อที่ผมนำมาให้ทุกคนพิจารณา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในแวดวงการซื้อการขายอาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง
 
ฉะนั้นการรับรองและขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้กับอาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง จึงไม่เพียงพอที่จะการันตรีว่า อาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง จะได้ผลหรือปลอดภัย 100 %
 
สรุปนะครับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่ใช่เครื่องหมายรับรองอะไรได้เลยว่า อาหารเสริมเหล่าหรือเครื่องสำอางนั้นจะปลอดภัยหรือมีสรรพคุณที่ได้ผลตามที่ระบุข้างกล่องเสมอไป
 
ฉะนั้น ก่อนจะซื้ออาหารเสริมมารับประทาน ต้องหาข้อมูลเยอะๆก่อนครับ อย่าเอาแค่เลขที่ทะเบียน อย. มาเป็นตัวตัดสินใจในการซื้อครับ
 
ปล. บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อโจมตีการทำงานขององค์การอาหารและยา แต่เพื่อจะสื่อให้ผู้บริโภคทั่วไปได้ตระหนึกถึงการให้ความสำคัญในการหาข้อมูลการเลือกซื้ออาหารเสริมให้มากๆ ไม่ใช่เห็นว่ามีการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นทันที
 
More Science Less Marketing
 
ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี