สารเคอร์คิวมินเป็นสารประกอบในกลุ่มโพลีฟีนอลที่พบในขมิ้นชัน ปัจจุบันได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการศึกษาวิจัยพบว่า มีประโยชน์ในการช่วยป้องกันและรักษาโรคเบาหวานประเภท 2 (T2DM) ซึ่งในการศึกษาวิจัยทางด้านการแพทย์พบถึงกลไกการออกฤทธิ์ของสารเคอร์คิวมินที่พบในขมิ้นชันหลากหลายกลไกในกลุ่มการเจ็บป่วยหลายๆโรคและในบทความนี้ จะนำเสนอ 7 กลไกการออกฤทธิ์ของสารเคอร์คิวมินที่พบในขมิ้นชัน ที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ดังนี้
1. Improving Insulin Sensitivity : เพิ่มความไวต่ออินซูลิน
สารเคอร์คิวมินสามารถปรับปรุงความไวของอินซูลินในการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ร่างกายได้ โดยการเพิ่มการแสดงออกของตัวรับอินซูลิน หรือ insulin receptor substrate-1 (IRS-1) และ ตัวขนส่งน้ำตาลในเลือด หรือ glucose transporter type 4 (GLUT4) ซึ่งทั้งสองอย่างดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการดูดซึมกลูโคสและการนำส่งน้ำตาลของอินซูลิน เข้าสู่เซลล์
นอกจากนี้ สารเคอร์คิวมินยังสามารถยับยั้งโปรตีนไทโรซีนฟอสฟาเตส 1B หรือ tyrosine phosphatase 1B (PTP1B) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ควบคุมการส่งสัญญาณควบคุมอินซูลินในทางลบ ซึ่งผลที่สารเคอร์คิวมินออกฤทธิ์ผ่านกลไกเหล่านี้ร่วมกันช่วยเพิ่มความไวของอินซูลินและช่วยรักษาสภาวะสมดุลของกลูโคสในเลือดและร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุปเข้าใจง่ายๆ คือ สารเคอร์คิวมินในขมิ้นชัน ทำให้การทำงานของอินซูลินไวขึ้น และนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้น
2. Modulating Inflammation : ควบคุมกระบวนการอักเสบเรื้อรัง
การอักเสบเรื้อรังเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ซึ่งสารเคอร์คิวมินมีคุณสมบัติต้านการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ โดยการยับยั้งการผลิตสารไซโตไคน์ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ เช่น สาร tumor necrosis factor-alpha (TNF-α) และ สาร interleukin-6 (IL-6) และยับยั้งการกระตุ้นของ nuclear factor-kappa B ( NF-κB) และ แอคทิเวเตอร์ โปรตีน-1 หรือ activator protein-1 (AP-1) ซึ่งการยับยั้งผ่านกลไกเหล่านี้ของสารเคอร์คิวมินในขมิ้นชัน ทำให้หยุดกระบวนการอักเสบแบบเรื้อรังได้
3. Reducing Oxidative Stress : ลดการสร้างสารอนุมูลอิสระ
สารอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในปฏิกิริยา Oxidative Stress ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการผลิต Reactive Oxygen Species (ROS) หรือ สารอนุมูลอิสระ และการป้องกันสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ ซึ่งสารเคอร์คิวมินมีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มการแสดงออกของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น เอนไซม์ซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส (SOD), เอนไซม์คาตาเลส (CAT) และ เอนไซม์กลูตาไธโอนเปอร์ออกซิเดส (GPx) ซึ่งกลไกเหล่านี้จะช่วยลดสารอนุมูลอิสระและชะลอความเสียหายของเซลล์ในร่างกายจากโรคเบาหวานได้
4. Ameliorating Diabetic Complications : ลดการเกิดอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบของสารเคอร์คิวมินสามารถช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดของภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้ เช่น โรคไต จอประสาทตาอักเสบ โรคระบบประสาท และโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ตัวอย่างเช่น สารเคอร์คิวมินสามารถป้องกันโรคไตจากเบาหวานได้โดยการยับยั้งการเกิดพังผืดในไต และการอักเสบ และสามารถป้องกันภาวะเบาหวานขึ้นตาได้ โดยลดการแสดงออกของ vascular endothelial growth factor (VEGF) และยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ที่จอประสาทตา นั่นเอง
สรุป คือ สารเคอร์คิวมินในขมิ้นชัน จะช่วยลดโรคแทรกซ้อนต่างๆ จากโรคเบาหวานได้
5. Modulating Gut Microbiota : ปรับสมดุลการทำงานของจุลินทรีย์ในลำไส้
จุลินทรีย์ในลำไส้หรือโพรไบโอติกมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดโรคเบาหวานและความรุนแรงของโรคเบาหวาน ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า สารเคอร์คิวมินสามารถปรับจุลินทรีย์ในลำไส้ โดยการเพิ่มปริมาณแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่น บิฟิโดแบคทีเรียม และ แลคโตบาซิลลัส ในขณะเดียวกันก็ลดจำนวนแบคทีเรียที่เป็นอันตราย เช่น Escherichia coli และ Enterobacter เป็นต้น ซึ่งกลไกเหล่านี้สามารถทำให้การทำงานของกระบวนการเผาผลาญพลังงานหรือดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น จึงส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้นในที่สุด
6. Regulating Lipid Metabolism : ควบคุมกระบวนการเผาผลาญไขมัน
ภาวะไขมันในเลือดที่ผิดปกติเป็นลักษณะทั่วไปที่มักพบร่วมกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และมีส่วนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งสารเคอร์คิวมินในขมิ้นชันสามารถช่วยควบคุมการเผาผลาญไขมันได้มากขึ้น โดยการลดระดับของไขมันในเลือดชนิดต่างๆ เช่น โคเลสเตอรอล (TC), โคเลสเตอรอลไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL-C) และไตรกลีเซอไรด์ (TG) เป็นต้น
ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มระดับโคเลสเตอรอล ชนิดไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง (HDL-C) ซึ่งเป็นชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ สารเคอร์คิวมินยังสามารถยับยั้งการแสดงออกของเอนไซม์ 3-ไฮดรอกซี-3-เมทิลกลูทาริล-โคเอ็นไซม์ เอ รีดักเตส (HMG-CoA รีดักเตส) หรือ 3-hydroxy-3-methylglutaryl-coenzyme A reductase (HMG-CoA reductase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สำคัญที่ใช้ในการสังเคราะห์คอเลสเตอรอล จึงสามารถช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ นั่นเอง
สรุปก็คือ สารเคอร์คิวมินในขมิ้นชัน สามารถช่วยลดการสร้างไขมันในเลือด และเพิ่มการเผลาผลาญไขมันในเลือดได้ นั่นเอง
7. Enhancing Pancreatic β-Cell Function : เพิ่มการทำงานของเซลล์ตับอ่อน
เบต้าเซลล์ของตับอ่อนมีหน้าที่ผลิตอินซูลินให้กับร่างกาย และการทำงานผิดปกติของเซลล์เหล่านี้ นำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานได้ เพราะร่างกายจะไม่มีอินซูลินที่เพียงพอหรือมีประสิทธิภาพนำไปใช้ในการนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ ซึ่งสารเคอร์คิวมินสามารถกระตุ้นการทำงานของเซลล์เหล่านี้ได้ โดยช่วยเพิ่มการหลั่งอินซูลิน และรักษาจำนวนเซลล์ของตับอ่อนให้แข็งแรง จึงนำไปสู่การสร้างอินซูลินได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพในการนำไปใช้ ในที่สุด