โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นโรคที่มีการอักเสบหลักๆเกิดขึ้นที่บริเวณข้อ โดยพบว่า อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานผิดปกติและไปทำลายข้อ รวมทั้งอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายตัวเอง หรือ เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ระบบภูมิคุ้มกันแทนที่จะไปทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย กลับมาทำลายเซลล์ปกติของร่างกาย ซะงั้น
อาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ซึ่งมักมีอาการเหนื่อยอ่อนและเมื่อยล้า รวมไปถึงอาจพบว่ามีน้ำหนักตัวลดลง ซึ่งอาการอื่น ๆ ของโรคที่พบได้บ่อย เช่น
มีอาการปวด บวม แดง อุ่น ข้อฝืด โดยจะเกิดขึ้นพร้อมกันในร่างกาย เช่น มือ ข้อมือ ข้อศอก เท้า ข้อเท้า เข่า และคอ มีอาการข้อฝืดแข็ง อาจเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว เช่น ตอนตื่นนอนในตอนเช้า หรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ประมาณ 40% จะพบว่ามีอาการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อต่อร่วมด้วยเช่น ผิวหนัง ดวงตา ปอด หัวใจ ไต ต่อมน้ำลาย เส้นประสาท ไขกระดูก หลอดเลือด เป็นต้น
สาเหตุของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่จากข้อมูลการศึกษาอาจจะเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายเซลล์ปกติของร่างกายตัวเอง โดยจะทำลายเยื่อหุ้มข้อ แล้วเป็นผลทำให้เกิดการอักเสบและบวมขึ้น ซึ่งในที่สุดก็อาจทำลายกระดูกอ่อนและกระดูกของข้อต่อ รวมไปถึงเส้นเอ็นที่ยึดกล้ามเนื้อและกระดูก จากนั้นข้อต่อก็จะค่อย ๆ ผิดรูปหรือบิดเบี้ยว อาการก็จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น
โรคกระดูกพรุน เพราะกระดูกมีความเสื่อมและเปราะบางลงทำให้แตกร้าวได้ง่าย ซึ่งอาจเกิดจากยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ตาแห้งและปากแห้ง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มักจะทำให้เกิดโรคปากแห้งตาแห้ง
การติดเชื้อ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และยาที่ใช้รักษา สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและนำไปสู่การติดเชื้อได้
โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) หากเป็นโรครูมาตอยด์ที่เกิดขึ้นที่บริเวณข้อมือ การอักเสบนั้นสามารถจะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือและนิ้วมือได้
ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ โรครูมาตอยด์มีความเสี่ยงที่จะทำให้ภาวะหลอดเลือดอุดตันหรือหลอดเลือดแข็ง รวมถึงเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้
โรคปอด โรครูมาตอยด์มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดและเกิดพังผืดที่เนื้อเยื่อปอดได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการหายใจลำบากหรือหายใจสั้น
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้
การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
แม้ยังไม่มีการรักษาที่หายขาดได้ แต่ปัจจุบันก็สามารถจะบรรเทาอาการโรคให้ดีขึ้นได้ หากเริ่มต้นการรักษาอย่างทันท่วงทีและรักษาด้วยยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค หรือที่เรียกว่า Disease Modifiying Antirheumatic Drugs หรือ DMARDs รวมไปถึงการรักษาด้วยยาอื่น ๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการรวมทั้งระยะเวลาที่เกิดโรคขึ้นมา เช่น ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น
วิธีการรักษา รวมไปถึงทางเลือกเสริมหรือทางเลือกเฉพาะทางอื่น ๆ ที่อาจมีผลช่วยรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เช่น การรับประทานน้ำมันปลา น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส เป็นต้น
การใช้สมุนไพรรักษาโรครูมาตอยด์
ขิง
รับประทานในรูปแบบของสารสกัดขนาด 30 มก. – 2 ก./วัน นานมากกว่า 1 เดือน จะได้ผลใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบันที่บรรเทาอาการข้ออักเสบ แต่มีข้อควรระวังห้ามใช้สารสกัดขิงมากกว่า 6 ก./วัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ได้ เช่น อาการท้องเดิน แสบอก ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
ขมิ้น
รับประทานในรูปแบบของสาร curcumin จากขมิ้นวันละ 1,200 มก. สามารถต้านการอักเสบโรคไขข้อรูมาตอยด์ได้ แต่ห้ามใช้ในผู้ที่มีปัญหาท่อน้ำดีอุดตันและผู้ที่เป็นนิ่วในท่อน้ำดี
น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส
รับประทานในขนาด 6 ก./วัน เป็นเวลา 6 เดือน เทียบกับการรับประทานน้ำมันมะกอก พบว่าใน 3 เดือนแรกอาการข้อฝืดตอนเช้าลดลง และอาการปวดลดลงภายใน 6 เดือน อาการอันไม่พึงประสงต์ที่พบคือ อาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารได้
พริก
ใช้ในรูปแบบของครีมแคปไซซิน ความเข้มข้น 0.025 – 0.075% ทาบริเวณที่ปวด วันละ 4 ครั้ง นาน 3 – 4 สัปดาห์ แต่อาจทำให้เกิดอาการผิวหนังไหม้ได้ ไม่ควรใช้ในผู้ที่ผิวแพ้ง่าย
ไพล
ใช้ในรูปแบบของครีมไพลที่มีส่วนประกอบของน้ำมันไพลอย่างน้อย 14% ทาบริเวณที่ปวด วันละ 2 – 3 ครั้ง นาน 3 – 4 สัปดาห์ แต่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณผิวหนังอ่อนหรือบริเวณแผล เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้
เถาวัลย์เปรียง
แคปซูลเถาวัลย์เปรียง รับประทานในขนาด 400 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ พบว่ามีผลรักษาอาการปวดและอักเสบได้เทียบเท่ากับการใช้ยาแผนปัจจุบัน
ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์เกี่ยวข้องอะไรกับโรครูมาตอยด์
ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ มีความเกี่ยวข้องกับโรครูมาตอยด์อย่างมาก เพราะว่า สาเหตุของการเกิดโรครูมาตอยด์ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานเกินหน้าที่หรือทำงานมากเกินไป โดยมีความเข้าใจว่า
เซลล์ปกติของร่างกายเป็นสิ่งแปลกปลอม ก็เลยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกปล่อยออกมาจัดการทำลายเซลล์ที่ปกติของร่างกาย จนเกิดโรครูมาตอยด์ขึ้นมา ซึ่งอาการปวดตามข้อต่างๆของโรครูมาตอยด์ก็มาจากการอักเสบด้วยเช่นกัน
ซึ่งจากการศึกษา ก็พบว่า ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วยเช่นกัน และยังทำหน้าที่ยับยั้งการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายได้ด้วยอีก ก็เลยทำให้ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์สามารถที่จะมีผลต่อการควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงการเกิดโรครูมาตอยด์ได้ นั่นเอง
หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือว่า โรครูมาตอยด์เกิดจากการทำงานของระบบภูมคุ้มกันในร่างกายที่ผิดปกติ จนนำไปสู่การอักเสบเกิดขึ้นทั้งในร่างกาย และตามข้อต่อต่างๆ
และระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ก็ควบคุมทั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และก็ยังควบคุมการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายด้วย ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์จึงเกี่ยวข้องกับโรครูมาตอยด์อย่างไม่ต้องสงสัย นั่นเอง
ทำไมต้องใช้กัญชา
กัญชามีสารไฟโตแคนนาบินอยด์ที่ทำหน้าที่ได้เหมือนกันกับสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายผลิตขึ้นเอง และสารไฟโตแคนนาบินอยด์ เช่น สาร THC และ สาร CBD ก็สามารถออกฤทธิ์ที่ตัวรับ CB1 และ CB2 ที่อยู่ในเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นต้น ก็เลยมีผลทำให้สามารถยับยั้งการเกิดโรครูมาตอยด์ หรือ บรรเทาอาการของโรครูมาตอยด์ได้ โดยเฉพาะการอักเสบ และ การปวด เป็นต้น
กัญชาเกี่ยวข้องกับโรครูมาตอยด์อย่างไร
เนื่องจากในกัญชามีสารไฟโตแคนนาบินอยด์ ที่มีรายงานว่า มีการใช้ในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ แล้วอาการของโรครูมาตอยด์ดีขึ้น โดยเฉพาะการปวดและการอักเสบตามข้อต่างๆ จึงมีการศึกษาต่อมา
จึงพบว่าสารไฟโตแคนนาบินอยด์ในกัญชานั้น สามารถออกฤทธิ์ในการยับยั้งกลไกการเกิดโรคของโรครูมาตอยด์ โดยเฉพาะในเรื่องการอักเสบและการปวด นอกจากนี้ยังพบว่า การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น หรือเข้าใจง่ายๆก็คือว่า กัญชาไปทำให้ระบบภูมิคุ้มกันหยุดคลุ้มคลั่งในการทำลายเซลล์ตัวเอง ก็เลยทำให้อาการของโรคค่อยๆดีขึ้น นั่นเอง
ใช้กัญชา กัญชง รักษาโรคข้อรูมาตอยด์อย่างไร
ในการศึกษา Efficacy and safety of cannabidiol followed by an open label add-on of tetrahydrocannabinol for the treatment of chronic pain in patients with rheumatoid arthritis or ankylosing spondylitis: protocol for a multicentre, randomised, placebo-controlled study
สาร CBD เริ่มต้นวันละ 10 มิลลิกรัม ค่อยๆปรับขึ้นจนควบคุมอาการปวดข้อ หรือ อักเสบของข้อได้ จนถึงขนาด 30 มิลลิกรัมต่อวัน
ถ้าผ่าน 12 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น สามารถเพิ่มสาร THC ได้ 2.5 มิลลิกรัม แล้วค่อยๆปรับขึ้นจนถึง 7.5 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อควบคุมอาการของโรคข้อรูมาตอยด์
จากการศึกษาข้างต้นเป็นเพียงบางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโรครูมาตอยด์ ยังมีการศึกษา หรือ การใช้จริง อื่นๆ ในกรณีลดการอักเสบและแก้ปวด ที่มีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันออกไป เป็นต้น
แนวทางการใช้กัญชา ร่วมกับสมุนไพรอื่น ในการรักษาโรครูมาตอยด์
การใช้ยาสมุนไพรร่วมกัน หรือ การใช้ยาสมุนไพรร่วมกับยาเคมี ล้วนจะมีปฏิกิริยาทางยาต่อกัน หรือเข้าใจง่ายๆว่า ยาตีกัน ซึ่งกัญชา ก็มีสารออกฤทธิ์สำคัญ ที่มีรายงานการศึกษาว่า สามารถตีกันกับยาเคมี หรือ ตีกันกับยาสมุนไพรตัวอื่นๆได้เช่นกัน
การใช้กัญชาจึงต้องมีข้อความระวังหรือพิจารณาถึงผลของยาตีกันด้วย เพราะว่า ผลลัพธิ์ที่เกิดขึ้นของยาตีกัน อาจทำให้ยาบางตัวลดน้อยลง ก็อาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม หรือ ทำให้ยาบางตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการเกิดอาการข้างเคียงที่อาจจะเป็นอันตรายก็ได้
ดังนั้น การใช้กัญชาร่วมกับยาเคมีหรือสมุนไพรต้องพิจารณาเรื่องยาตีกันด้วย
สั่งซื้อหนังสือ กัญชา กัญชง พร้อมสิทธิ์พิเศษในการเรียนออนไลน์ได้ ตามรายละเอียดด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
Efficacy, Tolerability, and Safety of Cannabinoid Treatments in the Rheumatic Diseases: A Systematic Review of Randomized Controlled Trials. Arthritis Care & Research Vol. 68, No. 5, May 2016, pp 681–688
The endocannabinoid system in pain and inflammation: Its relevance to rheumatic disease. Eur J Rheumatol 2017; 4: 210-8.
More Science Less Marketing