โรคลมชักเป็นความผิดปกติของระบบประสาทที่เกิดจากเซลล์สมองเสียการทำงานไปชั่วขณะ ทำให้แสดงอาการออกมา โดยอาการต่าง ๆ หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเซลล์สมองที่มีความผิดปกติ เช่น
การเสียการทำงานที่สมองด้านหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวก็จะเกิดอาการเกร็ง ชักกระตุก
การเสียการทำงานที่สมองกลีบขมับก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมอารมณ์
การเสียการทำงานที่สมองกลีบท้ายทอยก็อาจส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้มองเห็นภาพหรือเห็นแสงบางอย่างผิดปกติไป เป็นต้น
ในกรณีที่เซลล์ประสานเสียการทำงานพร้อม ๆ กันหลาย ๆ ส่วนก็อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรู้สติ หรืออาจเกิดการเหม่อลอย
ความอันตรายของโรคลมชัก
โรคนี้อันตรายตรงที่อาการชักอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและอาจไม่มีอาการเตือน ส่วนใหญ่แล้วอาการมักไม่รุนแรงและเกิดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรง หรือชักอาการชักเกร็งนาน ๆ รบกวนการหายใจซึ่งอาจทำให้สมองได้รับออกซิเจนน้อยลงมีผลต่อสมองในระยะยาว
หรือบางคนอาจได้รับภยันตรายต่อร่างกาย เช่นที่ศีรษะ ต่อแขนขาที่ฟาดของแข็งระหว่างอาการชัก หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างอาการชักได้
อย่างไรก็ตามถ้ารับการรักษาต่อเนื่องและผู้ป่วยปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมโอกาสที่จะเกิดอาการชักซ้ำจะลดน้อยลงทำให้อันตรายที่เกิดตามมาก็จะลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน
การรักษาปัจจุบัน
ปัจจุบันแพทย์ให้ความสนใจเรื่องการรักษาโรคลมชักมากขึ้น มีการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อรักษาโรคลมชักอย่างได้ผล ในปัจจุบันมียากันชักหลายชนิดที่แพทย์สามารถเลือกใช้ในการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
ในกรณีที่การรักษาด้วยยาไม่ได้ผลก็มีวิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น การผ่าตัด การกำหนดอาหารที่จะช่วยลดอาการชัก โดยเฉพาะโรคลมชักในเด็กมีที่บางประเภทที่หายขาดได้เองเมื่ออายุมากขึ้นและบางประเภทที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรักษาด้วยยาซึ่งแพทย์สามารถหยุดยานั้น ๆ ได้ภายหลังรับประทานเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมผู้ป่วยจึงไม่ต้องกินยากันชักต่อเนื่องตลอดชีวิต
คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับบิดามารดา หรือผู้ปกครองเมื่อบุตรหลานได้รับการรักษาโรคลมชัก มีหลายประการดังนี้
ผู้ป่วยจะต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
ยากันชักมีหลายชนิด มีคุณสมบัติในการออกฤทธิ์ที่แตกต่าง จึงต้องเข้าใจให้ชัดเจน
รูปแบบของยากันชักมีหลายรูปแบบ เช่น ยาน้ำ ยาเม็ดที่มีทั้งชนิดเคลือบและชนิดธรรมดาบางชนิดสามารถเคี้ยวได้โดยที่ไม่มีรสขม หรือชนิดแคปซูลซึ่งต้องกลืนทั้งเม็ดเป็นต้น แพทย์จะเป็นผู้แนะนำรูปแบบของยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กแต่ละคนตามชนิดของการชักและอายุของเด็ก
จำนวนการรับประทานยากันชักในแต่ละวันขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของยาแต่ละชนิด ยาบางชนิดต้องรับประทานวันละ 3-4 ครั้ง ขณะที่บางชนิดอาจจะรับประทานเพียงวันละครั้งเดียวในทางปฏิบัติอาจจะมีการคลาดเคลื่อนเวลาของการกินยาได้บ้าง เพื่อปรับให้เข้ากับการดำเนินชีวิตประจำวัน
แต่สิ่งสำคัญคือต้องรับประทานยาให้ครบทั้งจำนวนครั้งและปริมาณยา ถ้าลืมรับประทานยามื้อใดมื้อหนึ่ง เมื่อนึกขึ้นได้ให้รีบกินยาทันที การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้เกิดผลเสีย เช่นการเกิดอาการชักเนื่องจากระดับยาในร่างกายต่ำเกินไป
การให้ยาชนิดที่เป็นน้ำต้องมีการตวงวัดปริมาตรตามขนาดที่แพทย์กำหนด ถ้าคลาดเคลื่อนจะทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือเกิดอาการชักซ้ำได้
ห้ามผสมยากันชักกับอาหารหรือนม ยกเว้นชนิดที่แพทย์แนะนำเท่านั้น เนื่องจากยากันชักบางชนิดอาจจะถูกดูดซึมไม่ดีถ้ากินพร้อมอาหารหรือนม
การใช้สมุนไพร
โรคลมชักเป็นโรคที่มีความผิดปกติของกระแสประสาทที่ส่งต่อกัน ซึ่งมีความซับซ้อน จึงไม่ค่อยมีรายงานการใช้สมุนไพรอย่างเป็นระบบระเบียบมากนักในกรณีที่นำมาใช้รักษาโรคลมชัก เหมือนกับกรณีการใช้สมุนไพรในโรคอื่นๆ ถึงแม้จะมีตำรับยาแผนสมุนไพรบ้าง แต่ก็ยังมีการศึกษาไม่มากเพียงพอ ไม่เหมือนกรณีการใช้ขมิ้นในการบรรเทาอาการอักเสบและปวดข้อ เป็นต้น
ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์เกี่ยวข้องอะไรกับโรคลมชัก
ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์มีผลต่อโรคลมชัก เพราะว่าสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์มีผลต่อการหลั่งสารสื่อประสาทที่สำคัญในร่างกาย 2 ชนิด คือ สารสื่อประสาทกลูตาเมต (Glutamate) และ สารสื่อประสาทกาบา (GABA) ซึ่งสารสื่อประสาทเหล่านี้มีผลต่อการเกิดโรคลมชักขึ้นมา ถ้ามีการทำงานที่ผิดปกติ หรือ มีการทำงานที่ไม่สมดุล
เนื่องจากโรคลมชักมีความซับซ้อนในเรื่องของการส่งกระแสของสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ และระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ก็ทำหน้าที่ในการควบคุมการส่งสัญญานของกระสารประสาทที่สำคัญในการที่จะมีผลในการเกิดโรคลมชัก
ปัจจุบัน จึงมีหลักฐานเพิ่มมากยิ่งขึ้นว่า โรคลมชัก กับ ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการชักเกิดขึ้น และมีการตรวจพบสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ เช่น สาร AEA ในผู้ป่วยโรคลมชักในน้ำไขสันหลังน้อยกว่าคนที่ไม่เป็นโรคลมชัก นั่นเอง
ผู้ป่วยลมชัก มีสาร AEA น้อยกว่าปกติ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคลมชัก
ทำไมต้องกัญชา
โรคลมชักบางชนิด มีการตอบสนองต่อยาเคมีที่ไม่ดี หรือ ยาเคมีไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ จึงมีความจำเป็นต้องใช้วีธีการอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งจากการศึกษา และการใช้จริงพบว่า
การใช้สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา โดยเฉพาะสาร CBD สามารถควบคุมการชัก ความถี่ในการชัก ที่ไม่สามารถควบคุมได้มาก่อน
และมีการแนะนำให้ใช้ในการรักษาโรคลมชัก ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมการชักจากยาเคมีได้ หรือ ถ้าคนไข้มีอาการดื้อยาแล้ว สามารถเลือกใช้สารไฟโตแคนนาบินอยด์เข้ามาใช้ในการรักษาโรคลมชักได้
กัญชาเกี่ยวข้องกับโรคลมชักอย่างไร
สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งสารสื่อประสาทที่จะกระตุ้นให้เกิดการชักได้ เช่น สารสื่อประสาทกลูตาเมต เป็นต้น เพราะว่า สารสื่อประสาทชนิดนี้ จัดเป็นสารสื่อประสาทหลักที่ทำหน้าที่ในการกระตุ้นระบบประสาทของร่างกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเหนี่ยวนำให้เกิดการทำงานที่มากขึ้น
ซึ่งผู้ป่วยโรคลมชักมักมีความผิดปกติของสารสื่อประสาทชนิดนี้ที่มีมากขึ้น ก็เลยไปกระตุ้นสัญญานให้มีการชักเกิดขึ้น เกิดการชักถี่ขึ้น
การจับของสาร CBD หรือ สาร THC จากกัญชา บริเวณตัวรับ CB1 และ CB2 เป็นผลให้เกิดการยับยั้งการหลั่งของสารกลูตาเมตได้ และนำไปสู่การยับยั้งการกระตุ้นสัญญานการชัก นั่นเอง
แต่เนื่องจากการเกิดโรคลมชักมีความซับซ้อนในระบบการส่งกระแสประสาทที่เกิดขึ้น การใช้สารไฟโตแคนนาบินอยด์จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม หรือ ดูถึงโอกาสการใช้ร่วมกันของยากันชักกับสาร THC หรือ สาร CBD เพื่อจะได้รักษาโรคลมชัก หรือ ควบคุมการชักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โรคลมชักที่มีการใช้ยาในรูปแบบแผนปัจจุบันไม่ได้ผล มีการแนะนำให้ใช้สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา กัญชงได้
แนวทางการใช้กัญชา ร่วมกับสมุนไพรอื่น ในการรักษาโรคลมชัก
โรคลมชักมีความซับซ้อนในการเกิดขึ้น เพราะว่าความผิดปกติของการส่งกระแสประสาทสามารถเกิดความผิดปกติได้หลายจุดในระบบประสาทส่วนกลาง หรือในสมองของผู้ป่วย การใช้กัญชาร่วมกับสมุนชนิดอื่น จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะสมุนไพรที่ใช้ร่วมกับกัญชาอาจไม่ลดประสิทธิภาพของสารไฟโตแคนนาบินอยด์ที่อยู่ในกัญชาได้
หรือ การใช้กัญชาร่วมกับยาเคมีที่เป็นยากันชัก ก็ต้องมีความระมัดระวังปฏิกิริยาของยาที่มีต่อกัน หรือ ยาตีกัน เพราะว่า อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาตัวใดตัวหนึ่งลดน้อยลง หรือ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อผลของการรักษาผู้ป่วยได้ และอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงของทั้งยาเคมีหรือกัญชาเพิ่มมากขึ้นได้
แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้คู่กัน ต้องมีความเข้าใจถึงเรื่องที่ยาตีกันด้วย จะได้รู้ว่า จะต้องใช้ยาคู่กันอย่างไรให้เหมาะสม นั่นเอง
สั่งซื้อหนังสือ พร้อมสิทธิ์เรียนออนไลน์ได้ตามรายละเอียดข้างล่างครับ
เอกสารอ้างอิง
Seizing an Opportunity for the Endocannabinoid System. Epilepsy Currents, Vol. 14, No. 5 (September/October) 2014 pp. 272–276
The Pharmacological Basis of Cannabis Therapy for Epilepsy. J Pharmacol Exp Ther 357:45–55, April 2016
Endocannabinoids and their implications for epilepsy. Epilepsy Curr. 2004;4(5):169–173.
Cannabinoids in the Treatment of Epilepsy: Hard Evidence at Last?. J Epilepsy Res. 2017;7(2):61–76. Published 2017 Dec 31. doi:10.14581/jer.17012
Efficacy of cannabinoids in paediatric epilepsy. Developmental Medicine & Child Neurology 2019, 61: 13–18
The Interplay between the Endocannabinoid System, Epilepsy and Cannabinoids. Int. J. Mol. Sci. 2019, 20, 6079
More Science Less Marketing